Sustainability
สินค้า (Products)
โลตัสมีเป้าหมายในการส่งมอบสินค้าคุณภาพสูง มาจากแหล่งที่ยั่งยืน ดีต่อสุขภาพ ในราคาที่เอื้อมถึงได้ ให้กับลูกค้า และผู้บริโภคทุกคน เราจึงให้ความสำคัญลำดับต้นกับการบริหารจัดการสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดหา การรักษาคุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนการพัฒนาสินค้า และการส่งเสริมสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งการบริหารจัดการสินค้าของเรายังขยายไปถึงการสร้างคุณค่าให้กับเกษตรรายย่อย ผู้ผลิตรายย่อย และ SMEs รวมตลอดถึงแรงงานทุกคนในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้ได้สินค้าอาหารที่สด ใหม่ มีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม
โลตัสมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และเล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจค้าปลีก เพื่อให้การดำเนินธุรกิจ และห่วงโซ่อุปทานของโลตัสมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐาน ศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันของคู่ค้าของเรา
ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่รับผิดชอบ และยั่งยืน โลตัสอยู่ในระหว่างพัฒนาแนวทางการดำเนินงานเพื่อการจัดหาสินค้าอย่างรับผิดชอบ ซึ่งกำหนดความมุ่งมั่น รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการการจัดหาสินค้าอย่างรับผิดชอบ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน อันเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามนโยบายด้านความยั่งยืนของโลตัส ซึ่งแนวทางการดำเนินงาน ฯ กำหนดแนวปฏิบัติมาตรฐานให้กับองค์กร และคู่ค้า โดยแบ่งเป็น 4 เสาหลัก ดังนี้
เราได้กำหนดเป้าหมายหลักในระยะสั้น และระยะกลาง มุ่งเน้นกิจกรรมการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร และการยกระดับศักยภาพของคู่ค้ากลุ่มสินค้าแบรนด์โลตัสทุกราย เพื่อให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ เรื่องการจัดหาสินค้าอย่างรับผิดชอบ และความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
โลตัสยังเล็งเห็นความสำคัญของการเปิดเผย และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน จึงได้กำหนดให้การเปิดเผยและรายงานความคืบหน้าประจำปี เป็นแนวทางการดำเนินงานด้านการจัดหาสินค้าอย่างรับผิดชอบ และยั่งยืน เป็นประจำทุกปี ผลการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2563 มีดังนี้
เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง โลตัสจึงใช้มาตรฐานในการคัดกรองความเสี่ยง และตรวจประเมินคู่ค้าเป็นกลไกหลักในการดำเนินงานของเรา ควบคู่ไปกับการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (ดูหัวข้อ "การตรวจสอบย้อนกลับ") เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าของเรามีห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใส และมีความยั่งยืน นอกจากนี้ โลตัสยังมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดหาอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรม ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกค้า คู่ค้า เกษตรกรผู้ผลิตรายย่อย SMEs และแรงงานทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสังคมในวงกว้างต่อไป
ระบบการตรวจประเมินคู่ค้า
โลตัสมีระบบการตรวจสอบคู่ค้าที่ผลิตสินค้าแบรนด์โลตัส ทั้งในด้านคุณภาพ และจริยธรรมในการจ้างแรงงาน (Technical and Ethical Audit ) โดยมีกระบวนการตรวจคัดกรองคู่ค้าก่อนเริ่มทำการซื้อขายอย่างเคร่งครัด และมีระบบติดตามและตรวจสอบคู่ค้าเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคู่ค้าได้ดำเนินงานตามมาตรฐานของเรา
การตรวจคัดกรองคู่ค้าก่อนทำการซื้อขายกับโลตัส : โลตัสทำการตรวจสอบคู่ค้าทั้งในด้านคุณภาพและจริยธรรมในการจ้างแรงงาน โดยยึดหลักการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศ ประกอบด้วย มาตรฐานของสถานประกอบการ กฎหมาย และมาตรฐานการผลิตสินค้า (ในรายที่ผลิตอาหารแบรนด์โลตัส ต้องผ่านการตรวจประเมิน GMP เป็นอย่างน้อย) ในบางกรณี เราจะมีการลงพื้นที่ ในกรณีที่พบว่ามีความเสี่ยง หรือกรณีต้องการหลักฐานเพื่อการตรวจสอบเพิ่มเติม (ในปี 2562-2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โลตัสได้พิจารณาตรวจสอบด้านเอกสารอย่างเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการใช้การประชุมทางไกลเพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่ของสถานประกอบการ และลงพื้นที่สถานประกอบการในช่วงการตรวจคัดกรองคู่ค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น)
การตรวจประเมินคู่ค้าปัจจุบัน: โดยดำเนินงานตามมาตรฐานของโลตัสที่อ้างอิงกรอบกฎหมายไทยและมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพ และการจ้างแรงงาน (Technical and Ethical Audit) ดังนี้
1. การตรวจประเมินคู่ค้าด้านคุณภาพ (Technical) : โลตัสมีระบบในการตรวจประเมินคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบว่าคู่ค้าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่โลตัสกำหนด ในการผลิตสินค้าอาหาร และสินค้าที่ไม่ใช่อาหารของโลตัสหรือไม่ โดยกระบวนการตรวจประเมิน จะใช้มาตรฐานการผลิตสินค้าของโลตัส (ซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐานสากล อาทิ ISO 9001 ISO 14001 ISO 22000 และ GFSI Standards เป็นต้น) มุ่งเน้น การบริหารจัดการด้านคุณภาพ การบริหารจัดการพื้นที่ผลิตสินค้าในด้านความปลอดภัย และชีวอนามัย การตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ"สินค้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมายคือหัวใจของเรา") การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านจริยธรรมในการจ้างแรงงาน ในการตรวจประเมินจะมีการประเมินคู่ค้าตามความสามารถในการปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตสินค้าของโลตัส โดยแบ่งผลของการตรวจประเมินคู่ค้าออกเป็น 4 ระดับ (ดีมาก ดี พอใช้ และไม่ผ่านเกณฑ์) ซึ่งจะนำมาใช้พิจารณารอบ และความถี่การตรวจประเมินคู่ค้าในปีถัดไป และระดับการติดตามและให้คำแนะนำในการผลิตสินค้าเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของคู่ค้า ในระหว่างปี 2562-2563 โลตัสได้ทำการตรวจประเมินคู่ค้าที่ผลิตสินค้าอาหารแบรนด์โลตัสจำนวน 229 สถานประกอบการ โดยมีคู่ค้า 61% ที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานการผลิตสินค้าอาหารของโลตัสในระดับดีและดีมาก และทำการตรวจประเมินคู่ค้าที่ผลิตสินค้าที่ไม่ใช่อาหารแบรนด์โลตัสจำนวน 94 สถานประกอบการ (ไม่รวมสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าแบรนด์ของโลตัส) โดยมีคู่ค้า 85% ที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานการผลิตสินค้าที่ไม่ไช่อาหารของโลตัสในระดับดีและดีมาก
จากการตรวจประเมินคู่ค้าในปี พ.ศ. 2563 พบว่าคู่ค้าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด แต่เรามุ่งเน้นให้คู่ค้าการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แนวปฏิบัติของคู่ค้าสอดคล้องตามมาตรฐานของเรา ได้แก่ การดำเนินการในการประเมินความเสี่ยงในกระบวนการผลิตสินค้าให้มีความปลอดภัยตามกรอบแนวทาง HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล และการจัดการสุขลักษณะที่ดีของสถานประกอบการ ในกลุ่มคู่ค้าที่พบการดำเนินงานไม่สอดคล้องตามมาตรฐานดังกล่าว ได้มีการร่วมจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับทางคู่ค้า ให้คำแนะนำในการแก้ไข และติดตามความคืบหน้าตามแผนปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของเรา เพื่อให้คู่ค้าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานในการผลิตสินค้าของเราได้ทั้งหมด สามารถป้องกันปัญหาของตัวสินค้าและปัญหาต่าง ๆ ที่สถานประกอบการ รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับทางคู่ค้าได้ในระยะยาว
2. การตรวจประเมินคู่ค้าด้านจริยธรรมในการจ้างแรงงาน (Ethical): โลตัสดำเนินการตรวจประเมินด้านจริยธรรมของคู่ค้า และการตรวจสอบทางสังคม ตามมาตรฐานการจัดหาสินค้าอย่างรับผิดชอบ ของโลตัสซึ่งอ้างอิงมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศของไอแอลโอ และกรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ โลตัสยังพิจารณาผลการตรวจประเมินทางสังคม อาทิ SMETA SA8000 และ amfori BSCI
ในกรณีที่เราตรวจพบ ได้รับการร้องเรียน หรือพบในรายงานที่เปิดเผยในสาธารณะว่าแนวปฏิบัติของคู่ค้าเข้าข่ายการละเมิดสิทธิแรงงาน หรือการแสวงประโยชน์จากแรงงาน โลตัสมีแนวปฏิบัติชัดเจนโดยจะดำเนินงานตรวจสอบ และระงับการสั่งสินค้าชั่วคราวจนกว่าคู่ค้าจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้น โดยโลตัสมีบทบาทหลักในการส่งเสริมและให้คำแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับมาตรฐานของเรา โดยให้ระยะเวลาคู่ค้าในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับระดับของปัญหา หากคู่ค้าไม่แสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจและจริงจังในการแก้ปัญหา หรือดำเนินธุรกิจขัดกับแนวทางของบริษัทจนไม่อาจแก้ไขได้ โลตัสจะพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ในกรณีที่ต้องตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
ความร่วมมือด้านการจัดหาอย่างมีจริยธรรม
โลตัสมีความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับสวัสดิภาพของลูกค้า และผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่านการดำเนินงานตามแนวทางการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงสุด ได้มาตรฐาน และตรวจสอบได้ อย่างไรก็ดี โลตัสตระหนักดีว่า การดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้ในเชิงนโยบายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โลตัสจึงมีแผนสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ และในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า คุณภาพ และการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ
ในปี 2564 โลตัสได้ริเริ่มดำเนินงานกับภาคประชาสังคม ซึ่งขับเคลื่อนการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในประเทศไทย โลตัสมุ่งหวังว่า การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม จะเป็นสื่อกลางสำคัญที่ทำให้ โลตัสสามารถพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานของเรา ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างความตระหนัก และความรู้ความเข้าใจ ถึงมาตรฐานด้านจริยธรรม และคุณภาพอาหารของโลตัส และใช้โอกาสนี้ ในการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา ซึ่งตัวอย่างความร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ การตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าประเภทส้ม กับ OXFAM
โลตัส มีนโยบายการจัดซื้อสินค้าแบรนด์โลตัสที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งผู้ผลิต สำหรับสินค้ากลุ่มอาหาร เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ถึงแหล่งผลิต จากข้อกำหนดมาตรฐาน (Specification) ของสินค้าที่คู่ค้าทุกรายต้องจัดทำและตกลงร่วมกันกับโลตัส และแสดงข้อมูลแหล่งผลิตของส่วนประกอบทุกชนิดของสินค้าแต่ละรายการ ในปี พ.ศ. 2563 โลตัสสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของสินค้าทุกชนิด โดยมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าในกลุ่มอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก และผลไม้ แบรนด์โลตัสแบบบรรจุหีบห่อ และสินค้าที่เราจะวางขายแบบเทกอง โดยคิดเป็น 100% ของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารดังกล่าว
นอกจากนี้ เราเล็งเห็นความสำคัญของการให้ข้อมูลผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของสินค้า เราจึงนำฉลากสินค้าในรูปแบบ QR Code มาใช้ในสินค้ากลุ่มอาหารสด ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และไข่ไก่ ที่มีการบรรจุหีบห่อ ซึ่งลูกค้าสามารถสแกน QR code เพื่อตรวจสอบที่มาของสินค้า พื้นที่เพาะปลูกสินค้า และมาตรฐานการผลิตที่เกี่ยวข้องได้ทันทีในขณะเลือกซื้อสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าจำนวน 334 รายการ (เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และไข่ไก่) ที่มี QR Code ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 53% ของสินค้าอาหารสดกลุ่มดังกล่าวแบรนด์โลตัสทั้งหมด
ทั้งนี้โลตัสสนับสนุนให้ลูกค้าของเราสามารถเข้าถึงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าอาหารสด เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า สะท้อนความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าของเรา และเล็งเห็นว่าการมีข้อมูลดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นใจสินค้าของเราในกลุ่มลูกค้า เราจึงวางแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายการใช้ QR Code เพื่อบอกแหล่งที่มาของสินค้าอาหารสดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าประเภทเทกองด้วย
เรามีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะ "คัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น"เพื่อให้ลูกค้าผู้มีอุปการะคุณเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุด ในราคาที่เอื้อมถึงได้ คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า และการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเรา
เรามุ่งเน้น ดูแลเอาใจใส่ เรื่อง คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าแบรนด์โลตัสทุกขั้นตอนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่การคิดค้นพัฒนาสูตร คัดเลือกคู่ค้า จัดหา ผลิต ขนส่ง และการวางจำหน่ายสินค้าในร้านของเรา ทั้งในสาขา และ ช่องทางออนไลน์ เราภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุด ที่ผู้บริโภคต่างให้ความเชื่อมั่น และไว้วางใจ เราใช้ หลักบริหารความเสี่ยงเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ ควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัยการปฏิบัติตามกฎหมาย
ฉลากและบรรจุภัณฑ์
โลตัสให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสินค้าอาหารแบรนด์โลตัส ในกระบวนการการคัดกรองคู่ค้า เรามีทีมงานด้านการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานการขึ้นทะเบียนของคู่ค้า ) เช่น เครื่องหมายรับรองมาตรฐานคุณภาพหรือคุณสมบัติ เครื่องหมายมาตรฐานวิธีหรือกระบวนการผลิต ฉลากที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับสินค้านั้นๆ หรือหลักฐานการขออนุญาตขึ้นทะเบียนในกรณีเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ เป็นต้น เราให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงข้อมูลส่วนประกอบสำคัญ และวัตถุดิบบนฉลากสินค้า และการใช้คำโฆษณาให้เหมาะสมตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่บังคับใช้กับคู่ค้าในข้อตกลงสเปกสินค้าที่ส่งมอบให้เราทุกครั้ง และในสัญญาทางธุรกิจที่ทำกับคู่ค้าของเรา นอกจากนี้ เราใช้ QR Code ที่ปรากฏชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอาหารแบรนด์โลตัส รวมถึงอาหารสดที่บรรจุหีบห่อ เพื่อสื่อสารข้อมูลเพิ่มเติมกับลูกค้าและผู้บริโภค ดังนี้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ "การตรวจสอบย้อนกลับ")
- กลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์ สินค้าผัก ผลไม้ และไข่ไก่แบรนด์โลตัส ใช้ฉลาก QR Code เพื่อให้ข้อมูลที่มาของสินค้า และมาตรฐานการผลิตที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป และชุดอาหารพร้อมปรุงแบรนด์โลตัส นอกเหนือจากการระบุส่วนประกอบหลักตามที่กฎหมายกำหนด เรายังใช้ฉลาก QR Code บนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้รายละเอียดวิธีการปรุงอาหาร
นอกจากนี้ โลตัสยังติดตามการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และทำการสุ่มตรวจสอบสินค้าบนชั้นวางทั้งสินค้าแบรนด์โลตัสและสินค้าแบรนด์อื่น ๆ หากพบว่าสินค้าใดไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำฉลากและบรรจุภัณฑ์ โลตัสแจ้งคู่ค้าเพื่อให้ข้อแนะนำในการปรับปรุงฉลากให้ถูกต้อง กรณีมีการสุ่มตรวจสินค้าโดยหน่วยงานภาครัฐ แล้วพบว่าสินค้ามีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โลตัสจะนำสินค้าดังกล่าวลงจากชั้นวางทันที และแจ้งคู่ค้าและผู้ผลิตสินค้าให้ดำเนินการแก้ไขโดยทันที โดยให้ส่งแผนการปรับปรุงสินค้าให้กับทางโลตัสโดยเร็วที่สุด และมีหลักฐานการแก้ไขสินค้าดังกล่าวก่อนนำสินค้าขึ้นวางที่ชุดขายอีกครั้ง
ในด้านการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ เราได้จัดทำข้อกำหนดสำหรับคู่ค้าสินค้าแบรนด์โลตัสทุกรายใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความสามารถในการเก็บรักษาคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหารอย่างดีเยี่ยม ควบคู่ไปกับการใช้วัสดุโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (ดูหัวข้อ "การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์")
โลตัสให้ความสำคัญทางเลือกเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าอาหารแบรนด์โลตัสที่คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ เพิ่มทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพให้กับลูกค้า โดยคงคอนเซ็ปต์ อร่อย ดีต่อสุขภาพ ในราคาที่เอื้อมถึงได้ โดยแบ่งแนวทางการดำเนินงานได้เป็น 2 แนวทางหลัก คือการพัฒนาสินค้าอาหารแบรนด์โลตัสเพื่อสุขภาพที่ดีของลูกค้า และให้ทางเลือกสินค้าสุขภาพกับลูกค้าของเรา
การพัฒนาสินค้า และนวัตกรรมการผลิตสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของเรา
โลตัส ไม่หยุดยั้งที่จะคัดสรรสิ่งที่ดี เพื่อผู้บริโภค เรามุ่งมั่นสร้างสรรค์ คิดค้น พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เรามีศูนย์นวัตกรรมโลตัส ซึ่งมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารสดแปรรูป และสินค้าสะดวกซื้อแบรนด์โลตัส อย่างต่อเนื่อง
นอกจากการมีสินค้าที่หลากหลาย มีรสชาติที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สุขภาพ และสุขภาวะของผู้บริโภค คือหัวใจสำคัญของนวัตกรรมการพัฒนา และผลิตสินค้า ศูนย์กลางของการพัฒนาสินค้า เรามั่นใจว่า สินค้าของเรามีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความปลอดภัยสูงสุด ทุกครั้ง ที่เราพัฒนาปรับปรุงสูตรสินค้า เรามุ่งเน้นการควบคุม และลดความหวาน ลดไขมัน ลดความเค็ม การไม่ใช้ผงชูรสในอาหารสำเร็จรูป และเลือกใช้ส่วนประกอบจากธรรมชาติ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ เรายังพัฒนาวิธีการยืดอายุการเก็บรักษาสินค้า รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในกระบวนการพัฒนาสินค้า โลตัสให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการมีส่วนร่วมของเพื่อนพนักงานในกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค และแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ในตลาด โดยวิเคราะห์ร่วมกับฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพด้านเทคนิค ฝ่ายการตลาดสินค้าตราโลตัส และกับคู่ค้า เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
ทางเลือกเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย ของลูกค้าโลตัส
โลตัสให้ความสำคัญกับการสื่อสารเกี่ยวกับสินค้าเพื่อสุขภาพ และการจัดหมวดหมู่สินค้าดังกล่าว โดยมุ่งหวังว่าจะกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว และเป็นข้อมูลการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพของลูกค้าของเรา เราจึงเน้นการสื่อสารเกี่ยวกับสินค้าที่มีคุณลักษณะเฉพาะเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ อาทิ สินค้าแผนกเบเกอรี่ปราศจากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึงเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ สินค้าบริโภคที่ได้รับตราสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ พัฒนาสินค้ากลุ่มอาหารเจพร้อมทานปลอดผงชูรส มีฉลากผลิตภัณฑ์ให้ข้อมูลโภชนาการอาหารชัดเจน และมีข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์ทางโภชนาการทั้งในสาขาและช่องทางออนไลน์เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้า อาทิ การจัดทำป้ายแสดงส่วนประกอบทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าเพื่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น โลตัสได้มีการจัดหมวดหมู่สินค้าตามลักษณะการผลิต และคุณลักษณะที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ
- การจัดหมวดหมู่สินค้าสุขภาพหน้าร้าน: ในส่วนของผักสด ซึ่งโลตัสจัดหมวดหมู่ผักปลอดสารพิษ และผักออร์แกนิกไว้อย่างชัดเจน และส่วนผลิตภัณฑ์นม ที่มีการจัดสัดส่วนชั้นวางสำหรับผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์นมปราศจากน้ำตาลแลคโตส
- การจัดหมวดหมู่สินค้าบน Tesco Lotus Shop Online: โลตัสจัดทำ "โซนสินค้าเพื่อสุขภาพ" ซึ่งรวบรวมทั้งของกินและของใช้เพื่อสุขภาพ เป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น เครื่องหมายสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลทางโภชนาการ ส่วนผสม และส่วนประกอบของสินค้าแต่ละชนิดตามฉลากสินค้าอย่างชัดเจน ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าจากฉลากได้เหมือนกับการเลือกซื้อสินค้าหน้าร้าน
โลตัสมีส่วนร่วมที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยเราให้การส่งเสริม และสนับสนุน การสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องเกษตรกร และ SMEs ของเราในประเทศไทย เรามีเจตนารมณ์อย่างชัดเจน เพื่อสานต่อความมุ่งมั่น เราจะสนับสนุนเกษตรกร และคู่ค้ารายย่อยในห่วงโซ่อุปทานของเราอย่างต่อเนื่อง โดยเรามีแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาส และช่องทางให้สินค้าของเกษตรกร และ SMEs เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ผ่านช่องทางสาขา พื้นที่เช่า และช่องทางออนไลน์ โครงการรับซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกร นอกจากนี้ เรามุ่งเน้นการขยายขนาดธุรกิจของเรา กับ SMEs ในฐานะคู่ค้า เพื่อผลิตสินค้าแบรนด์โลตัส โดยเน้นการสร้างความร่วมมือและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs
นอกจากนี้ เราเล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และ SMEs ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 โลตัสมีความมุ่งมั่น และดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร และนำสินค้าของ SMEs มาวางขายในร้านค้าของเรา (ดูรายละเอียดที่ "โลตัส รับซื้อผักตรงจากเกษตรกรกว่า 1,000 ครัวเรือน จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศพร้อมผลักดันผลิตผลการเกษตร และสินค้า SME ขึ้นห้าง ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19")
โครงการรับซื้อตรงจากเกษตรกร
โลตัสเริ่มดำเนินโครงการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลาง (Direct Sourcing) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคงให้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังยกระดับมาตรฐานการเพาะปลูกพืช ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ จากความสำเร็จของโครงการ ในปี พ.ศ. 2560 โลตัสได้พัฒนา Farm Model ขึ้น เพื่อต่อยอดและยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้สามารถบริหารจัดการการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงรวมตัวกันตามนโยบายเกษตรแปล่งใหญ่ของภาครัฐ ในปัจจุบันโลตัส มีแปลงปลูกผักในรูปแบบ Farm Model 4 แหล่ง ในทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย สร้างอาชีพ รายได้ที่เป็นธรรม และมั่นคง ให้กับเกษตรกรกว่า 1,200 ครัวเรือน การทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบ Farm Model ทำให้เราสามารถควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพสินค้า ทราบถึงแหล่งที่มา ส่งต่อผักสดคุณภาพสูงให้ลูกค้าของเราทุกวัน
โครงการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามนโยบายความยั่งยืนของเรา เพื่อให้โลตัสจัดซื้อสินค้าจากเกษตรกร และ SMEs ซึ่งมุ่งหวังทำเป็นโครงการระยะยาวเพื่อกระจายรายได้ให้รายย่อยอย่างเป็นธรรม และมั่นคง
รูปแบบการดำเนินโครงการ
โลตัสดำเนินโครงการรับซื้อตรงจากเกษตรกร ในกลุ่มสินค้าเกษตร ประเภทผัก ในลักษณะ 3 ประสาน ประกอบด้วยภาครัฐ กลุ่มเกษตรกร และโลตัส โดยในส่วนของโลตัส เรารับซื้อสินค้าการเกษตรบนหลักการการซื้อขายกับเกษตรกรอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส รวมถึงมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งโครงการรับซื้อตรงจากเกษตรกร มีรูปแบบการดำเนินโครงการ ดังนี้
- เจรจาราคาและปริมาณสินค้า: โลตัสเริ่มทำงานกับกลุ่มเกษตรกรโดยการเจรจาราคาผักและปริมาณสินค้าที่เกษตรกรสามารถผลิตได้ตามหลักการตลาดนำการผลิต โดยราคาฐานที่ใช้เจรจาเป็นราคาที่ผ่านการคำนวณที่ครอบครอบคลุมต้นทุน และอ้างอิงราคาตลาดในช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรได้กำไรจากการซื้อขายกับโลตัสอย่างแน่นอน และสามารถบริหารจัดการพื้นที่ในการทำการเกษตรได้ เนื่องจากรู้ปริมาณสินค้าและพื้นที่เพราะปลูกเพื่อส่งผักให้กับโลตัสล่วงหน้า
- เกษตรกรวางแผนเพาะปลูก และผลิต: โลตัสมีส่วนร่วมในการวางแผนเพาะปลูกให้กับเกษตรกรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสัปดาห์ โดยกลุ่มเกษตรกรที่เข่ารวมโครงการ ฯ จะปลูกพืชผักตามมาตรฐาน GAP ตามข้อกำหนดของโลตัส ซึ่งโลตัสสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าตามมาตรฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุน ความรู้เกี่ยวกับสเปกสินค้าและการใช้สารเคมี การสอนใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อการกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย เป็นต้น
- การตรวจสอบคุณภาพสินค้าและสารเคมี: โลตัสสนับสนุนอุปกรณ์ในการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง สอนวิธีการตรวจสอบ และกำหนดแผนการตรวจก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าจากการรับซื้อตรงจากเกษตรกรเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพสินค้าอาหารของโลตัส โดยไม่มีสารเคมีตกค้าง
- การแพ็คสินค้า และการส่งผลผลิตเข้าศูนย์กระจายสินค้า: โลตัสสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาทเพื่อเป็นกองทุนในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร และซื้ออุปกรณ์การผลิต รวมถึงออกแบบและจัดตั้งโรงคัดบรรจุแพ็คตามหลัก GMP และวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเมื่อผลิตและแพ็คสินค้าเรียบร้อยแล้ว โลตัสยังสนับสนุนรถขนส่งและตะกร้าเพื่อรับผลผลิตจากโรงแพ็คไปยังศูนย์กระจายสินค้า
ตลอดการดำเนินโครงการ ฯ โลตัสสร้างความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพของกลุ่มเกษตรกร พัฒนามาตรฐานการผลิต และศักยภาพในการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับภาครัฐ อันได้แก่ กรมวิชาการเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นพันธมิตรสำคัญในการสร้างศักยภาพให้เกษตรกรผ่านโครงการ ฯ โดยให้การสนับสนุนและให้ความรู้เกษตรกร เรื่องการปลูกพืชอย่างปลอดภัย การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี การรวมกลุ่มของเกษตรกรและการบริหารงานภายในกลุ่ม และให้การสนับสนุนทางการเงินโดยจัดสรรงบประมาณในการสร้างโรงคัดบรรจุให้กลุ่มเกษตรกร
ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ และมูลค่าที่ส่งต่อถึงเกษตรกร ปี 2563
ปัจจุบันโลตัส รับซื้อผักโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกร 1,200 ครัวเรือน ในทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย กล่าวคือ กลุ่มบ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น, กลุ่มอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กลุ่มบ้านผักไห่ จังหวัดอยุธยา และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ต. อุโมงค์ จ. ลำพูน โดยโลตัส ได้เพิ่มปริมาณผลผลิตที่รับซื้อทุกปี และขยายการรับซื้อสู่เกษตรกรจำนวนมากขึ้น
แผนการดำเนินงานในอนาคต
จากความสำเร็จของโครงการ Farm Model ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้โลตัสเล็งเห็นว่า โครงการดังกล่าวสามารถสร้างคุณค่าร่วมระหว่างบริษัท ซึ่งได้ผักสดใหม่ คุณภาพดีมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค เนื่องจากระยะเวลาการเก็บเกี่ยว และการขนส่งสั้นลง ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรได้ประโยชน์ทั้งด้านรายได้และตลาดที่มั่นคง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ในระยะถัดไป โลตัสจึงวางแผนขยายความร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกร ภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว ดังนี้
- เพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น (อาทิ การผลิตผักโดยไม่ใช้สารเคมี การส่งเสริมใช้สารชีวภัณฑ์)
- เพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพื่อพัฒนาทักษะ และความถนัดของเกษตรกรให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น โดยให้อิสระกับเกษตรกรในการเลือกปลูกพันธุ์ผัก เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับโลตัสในอนาคต โดยผ่านการปรึกษาหารือกันในกลุ่มเกษตรกร
- เพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยการการแต่งสินค้าและบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นการขยายระยะเวลาการขายสินค้าประเภทผักสด
โครงการการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ผลิตสินค้า OTOP
โลตัสตระหนักดีว่าเรามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มั่นคงและเข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ SMEs โดยโลตัสให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางการค้าเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน เราจึงสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในด้านการนำสินค้ามาวางจำหน่ายในพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและพื้นที่ศูนย์การค้าของ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของ SMEs เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของตลาด
ในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โลตัสได้เพิ่มมาตรการในการสนับสนุน SMEs โดยการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อเปิดการเจรจาธุรกิจทุกเดือนให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้ามานำเสนอสินค้ากับเราตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 โดยเปิดการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าที่หลากหลาย ทั้งในสินค้าประเภทอาหารสดและอาหารพร้อมทาน อาหารแห้ง เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว สินค้าใช้ในบ้าน เครื่องแต่งกาย สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
ในขั้นตอนการคัดเลือก โลตัสจะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยคัดเลือกตามเกณฑ์มาตรฐานการคัดเลือกคู่ค้าของโลตัส และช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานของเรา เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้คัดเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคมั่นใจถึงความสะอาด และปลอดภัย รวมถึงเพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตและการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรฐานของโลตัส (สามารถศึกษารายละเอียดการเข้าเจรจาการค้าสำหรับ SMEs ได้ที่ www.tescolotus.com/SME) ซึ่งเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว โลตัสมีแผนการสนับสนุน SMEs อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการส่งเสริมการขาย การตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ การสนับสนุนให้ SMEs มีนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่เหมาะสมกับผู้บริโภค และสนับสนุนศักยภาพของ SMEs เพื่อการส่งออกสินค้าในอนาคต
นอกเหนือจากการเจรจาเพื่อเฟ้นหาผู้ประกอบการ SMEs และสินค้าที่มีศักยภาพ โลตัสยังได้ดำเนินโครงการและมาตรการที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ดังนี้
- มาตรการการช่วยเหลือและลดภาระ SMEs โดยการสนับสนุนพื้นที่เช่าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อาทิ
- โครงการ Food Paradise เปิดพื้นที่ภายในศูนย์การค้าโลตัส เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ มาจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสดและอาหารแห้งได้โดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ที่โลตัส 57 สาขาทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2563 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ "เทสโก้ โลตัส ช่วยเกษตรกรและเอสเอ็มอีไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19 เปิดพื้นที่ฟรี ให้จำหน่ายสินค้าในห้างทั่วประเทศ")
- โครงการตลาดนัด SME ไทย ถูกใจมหาชน โดยโลตัส ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์คัดเลือกผู้ประกอบการ SME ผู้ประกอบการ OTOP Select รวมไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน กว่า 300 ราย นำสินค้ามาวางจำหน่ายบริเวณด้านหน้าสาขาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- โครงการตลาดสุขใจวัยเก๋า ความร่วมมือระหว่าง โลตัส กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุนอกระบบ มาจำหน่ายสินค้าในห้างโลตัส นำร่องใน 3 จังหวัด ในช่วงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2563
- โครงการศูนย์ฝึกอาชีพจตุจักร โลตัสสนับสนุนพื้นที่ในสาขาลาดพร้าวกว่า 300 ตารางเมตร และสาธารณูปโภคให้เป็นเวลา 3 ปีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดให้บริการจัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพให้แก่ประชาชนที่สนใจ เพื่อให้สามารถไปประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ วิชาอาหารคาวและเบเกอรี่ ตัดผมชาย เสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี และนวดไทยเพื่อสุขภาพ และด้วยการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมโครงการ โลตัสกำลังประสานงานกับกรุงเทพมหานคร ในการคัดเลือกพื้นที่สาขาอื่น ๆ เพื่อเปิดศูนย์ฝึกอาชีพ เพิ่มเติม
โลตัส ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกที่ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ เราตระหนักถึงความสำคัญสูงสุดของการร่วมมือกับคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจของเรา ทั้งในด้านการรักษา และพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตไปพร้อมกันอย่างแข็งแกร่ง โดยการสร้างศักยภาพ และการสื่อสารความคาดหวังทั้งในด้านมาตรฐานสินค้า จริยธรรมด้านแรงงาน และจริยธรรมด้านการทำธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราและคู่ค้า เติบโตไปพร้อมกันอย่างมีมาตรฐาน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โลตัสมุ่งมั่นในการปฏิบัติต่อคู่ค้าของเราอย่างเป็นธรรม ตามหลักการด้านจริยธรรมในการทำธุรกิจของเรา และมีกระบวนการสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นของคู่ค้าอยู่เสมอ เพื่อสร้างความไว้วางใจในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน เราจึงจัดให้มีช่องทางที่หลากหลายในการสื่อสาร เพื่อร่วมกันสร้างศักยภาพทางธุรกิจ การสื่อสารเพื่อสร้างความสอดคล้องเกี่ยวกับความคาดหวังด้านจริยธรรมธุรกิจ และการสื่อสารกฎเกณฑ์การดำเนินธุรกิจร่วมกับเรา ดังนี้
- การสื่อสารข้อกำหนดและข้อบังคับในสัญญาคู่ค้า ซึ่งระบุข้อกำหนดที่บังคับใช้ทั้งกับคู่ค้าที่ผลิตสินค้าแบรนด์โลตัส และคู่ค้าที่จัดหาสินค้ามาจำหน่ายภายใต้แบรนด์โลตัส โดยโลตัสระบุความคาดหวังอย่างละเอียดเพื่อให้คู่ค้าทราบทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และจริยธรรมการจ้างงาน อาทิ มาตรฐานขั้นต่ำในกระบวนการผลิต คุณภาพสินค้าที่ได้รับส่งมอบ สิทธิของแรงงาน เช่น สภาพการทำงานที่ปลอดภัย สิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม เป็นต้น
- การสื่อสารเกี่ยวกับมาตรฐานด้านคุณภาพ และจริยธรรมการจ้างแรงงาน โดยดำเนินการตั้งแต่การคัดเลือกคู่ค้า และดำเนินการตรวจสอบตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ผ่านการใช้ระบบการตรวจสอบคู่ค้าตามเกณฑ์มาตรฐานที่อ้างอิงจากมาตรฐานสากล โดยโลตัสใช้โอกาสเหล่านี้ถ่ายทอดความรู้ และร่วมสร้างศักยภาพเฉพาะด้าน ผ่านการปรึกษาหารือกับผู้จัดการด้านเทคนิคสินค้า และผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมแรงงานของเรา (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ "ระบบการตรวจประเมินคู่ค้า")
- การสื่อสารกับคู่ค้าผ่านการประชุมคู่ค้าประจำปี เพื่อสื่อสารทิศทางการดำเนินงานของโลตัส ความคาดหวังของโลตัสต่อคู่ค้า และเพื่อเป็นช่องทางให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคู่ค้าและโลตัส เพื่อร่วมกันบริหารจัดการข้อท้าทายที่พบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน
- การฝึกอบรมคู่ค้า ในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของคู่ค้า และเพื่อการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องของโลตัส เช่น การฝึกอบรมและสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะ และคุณภาพในกระบวนการผลิต เป็นต้น
- โปรแกรมช่วยเหลือคู่ค้าใหม่ เพื่อช่วยให้คู่ค้าใหม่ได้รู้จักกับบริษัท และเข้าใจบทบาทของตนเองในธุรกิจค้าปลีก แนะนำให้คู่ค้าใหม่รู้จักหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ ช่วยให้คู่ค้าเกิดความเข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
- แบบสำรวจความพึงพอใจในการทำงานร่วมกับโลตัส เราได้จัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจของคู่ค้าปีละ 2ครั้ง ช่วง เดือนมกราคม และเดือนกรกฎาคม เพื่อนำเสียงสะท้อนจากคู่ค้าไปปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานกับคู่ค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- หน่วยงานช่วยเหลือคู่ค้า หรือ Supplier Helpline เพื่อบริการตอบคำถามคู่ค้าเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบต่าง ๆที่คู่ค้าใช้งานร่วมกับโลตัส และแนะนำช่องทางการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆภายในโลตัส เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่คู่ค้าอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ โลตัสยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาจรรยาบรรณของคู่ค้าแบรนด์โลตัส เพื่อสะท้อนหลักการและความคาดหวังต่อคู่ค้าของเรา ซึ่งระบุอย่างชัดเจนในสัญญากับคู่ค้าและมาตรฐานการคัดเลือกคู่ค้าในปัจจุบัน เรามีความคาดหวังว่า จรรยาบรรณของคู่ค้า ฯ จะเป็นแนวทางให้คู่ค้าของเราสามารถนำไปปฏิบัติ และบังคับใช้ถึงระดับคู่ค้าลำดับที่ลึกกว่าคู่ค้าลำดับที่ 1 (first-tier suppliers) ซึ่งในหลักการ ประกอบด้วย การดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และมีจริยธรรม การดำเนินงานตามหลักจริยธรรมทางการค้า สนับสนุนระบบตรวจสอบรอบด้าน และการจัดกลไกรับข้อร้องเรียน
โลตัสเป็นค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยมุ่งมั่นที่จะบรรลุ SDG Target 12.3 ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยโลตัสตั้งเป้าที่จะลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผ่านกระบวนการและนโยบายการลดขยะอาหาร และการสูญเสียของอาหารที่ชัดเจน
ในปี 2561 โลตัสเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในประเทศไทย ที่วัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหาร (food waste data) อย่างโปร่งใส ด้วยความเชื่อมั่นว่าการวัดและเปิดเผยข้อมูล รวมถึงรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างได้ผลที่สุด ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปีงบประมาณ 2562/63 โลตัสสามารถลดปริมาณขยะอาหารลงได้ 13% เมื่อเทียบกับ ขยะอาหาร โลตัสจากปีงบประมาณปีฐาน 2561/2562 ทั้งนี้ โลตัสมีความมุ่งมั่นจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนความคืบหน้าของแนวทางการบริหารจัดการอาหารสด เพื่อลดปริมาณอาหารขยะของเรา ซึ่งออกแบบครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของอาหารสดที่เข้ามาจำหน่ายในร้านค้าของเรา ดังนี้
การจัดการที่ต้นน้ำ โลตัสมีโครงการรับซื้อตรงจากเกษตรกร (ดูรายละเอียดที่หัวข้อ "โครงการรับซื้อตรงจากเกษตรกร") ซึ่งเราทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรเพื่อวางแผนการเพาะปลูกที่ชัดเจน พร้อมกับควบคุมคุณภาพและการใช้สารเคมี เพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลิตผลตรงตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงสนับสนุนการตั้งโรงคัดบรรจุใกล้กับแปลงเกษตรของเกษตรกร เพื่อคงความสดและคุณภาพของผลิตผลให้อยู่ได้นานที่สุด ในส่วนสินค้าอาหารสดแบรนด์อื่นที่โลตัสรับมาจำหน่าย เรามีการตรวจสอบการบรรจุภัณฑ์เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าจะสามารถคงคุณภาพและความสด เพื่อให้สามารถอยู่บนชั้นวางได้ตลอดอายุของสินค้า ไม่เน่าเสียไปก่อนเวลาอันควร
การจัดการที่กลางน้ำ โลตัสขนส่งผลิตผลของเกษตรกรด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ ตลอดจนถึงศูนย์กระจายสินค้า และหน้าร้านสาขาของโลตัส เพื่อลดปริมาณการศูนย์เสียของอาหาร และเพื่อคุณภาพความสดให้กับลูกค้าของเรา และในส่วนสินค้าอาหารสดแบรนด์อื่น โลตัสตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนรับเข้าศูนย์กระจายสินค้าเพื่อคัดกรองสินค้าที่มีคุณภาพ ให้เกิดขยะอาหารน้อยที่สุด
การจัดการที่ปลายน้ำ โลตัสได้มีการจัดทำสินค้าป้ายเหลือง โดยจะนำเอาสินค้าที่ใกล้ถึงวันหมดอายุมาลดราคา สำหรับสินค้าที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังคงความปลอดภัยตามมาตรฐานของเรา โลตัสมีมาตรการหลากหลาย ดังนี้
- การบริจาคให้กับมูลนิธิและผู้ยากไร้ ผ่านโครงการ "กินได้ ไม่ทิ้งกัน" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยบริจาคอาหารไปแล้วกว่า 2.6 ล้านมื้อ จากสาขาที่เข้าร่วมโครงการ 58 สาขา และ 2 ศูนย์กระจายสินค้า
- การบริจาคเป็นอาหารสัตว์ โดยการบริจาคให้กับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล จ.ชลบุรี สวนนกชัยนาท และสวนสัตว์อุบลราชธานี
- นำขยะอาหารไปทำปุ๋ย โดยโลตัสริเริ่มการทำปุ๋ยจากขยะอาหารที่สาขารามอินทรา โดยใช้เครื่องย่อยเศษอาหารซึ่งมีผลผลิตเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ซึ่งเรานำมาแจกจ่ายให้กับลูกค้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
นอกจากนั้น โลตัสยังร่วมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) อาทิ การสร้างความรับรู้ให้กับเพื่อนพนักงานของเรา การจัดงานประชุม 2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste การจัดทำแคมเปญสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของขยะอาหาร การนำวันหมดอายุออกจากบรรจุภัณฑ์ผักสดที่จำหน่ายในสาขาของเราเพื่อช่วยผู้บริโภคลดการทิ้งอาหารสดก่อนเวลาอันควร และการตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ในสาขา
โลตัสมุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า โดยคำนึงถึง มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ ภายใต้แนวทางปฏิบัติ 5 ประการของ Farm Animal Welfare Council (FAWC) ดังนี้
- อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst)
- อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort)
- อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย (Freedom from pain, injury and disease)
- อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior)
- อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress)
นอกจากนั้น โลตัสยังได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้า เกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยง และทำการประมง รวมทั้ง นักวิจัย สัตวแพทย์ และองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) ด้านสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์สินค้าแบรนด์โลตัส เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติ 5 ประการดังกล่าว และเป็นไปตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์อื่น ๆ อาทิ การไม่ใช่วัตถุดิบที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม การห้ามใช้ยาปฏิชีวะในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์ และการไม่จำหน่ายสัตว์พิเศษ หรือมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ ตามระบุไว้ใน อนุสัญญาไซเตส (CITES) โดยที่ โลตัสได้ตั้งเป้าหมายในการจำหน่ายไข่ไก่ที่มาจากแม่ไก่ไม่ขังกรงเท่านั้น ภายในปี พ.ศ. 2571