ข้อมูลองค์กร
แนวทางการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน
โลตัส ในฐานะห้างค้าปลีกของประเทศไทยภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจของเราในทุก ๆ วัน อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพนักงาน คู่ค้าและลูกจ้างของคู่ค้าของเรา รวมไปถึงแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของเรา ลูกค้า และผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายอื่น และชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติงานของโลตัส ความหลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินธุรกิจและตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสให้เราพัฒนามาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยยกระดับการเคารพสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน ตลอดห่วงโซ่อุปทานและในสังคมวงกว้าง
โลตัสได้ประกาศความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กร ผ่านนโยบายสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน เน้นย้ำจุดยืนการดำเนินธุรกิจที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) และตราสารด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (the International Labour Organization’s (ILO) Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) โลตัสยังได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยปฏิบัติตามแนวทางของหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (the United Nation Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGP) กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UN Global Compact) และกรอบกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง
นโยบายสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านแรงงานของโลตัส
นโยบายสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านแรงงานของโลตัส กำหนดหลักการ และแนวปฏิบัติที่สำคัญเพื่อการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ทรงสิทธิที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินความสัมพันธ์ทางธุรกิจของโลตัส โดยมุ่งหวังจะสื่อสารนโยบาย ฯ ให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกได้รับทราบถึงความมุ่งมั่น และความคาดหวังให้พนักงานและคู่ค้าของเราเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
โครงสร้างหลักของนโยบาย ฯ มีดังนี้
- แนวปฏิบัติ หลักสิทธิมนุษยชนที่โลตัสยึดมั่น รวมถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกลุ่มเปราะบางซึ่งโลตัสมุ่งมั่นคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน
- ความคาดหวังของโลตัสต่อพนักงานและคู่ค้า ในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
- การบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กร และกระบวนการติดตามตรวจสอบสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Due Diligence – HRDD) อันรวมไปถึงการป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน
- โครงการสร้างการบริหารจัดการ และการกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและทบทวนนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และแนวทางป้องกัน บรรเทา และบริหารจัดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน
โลตัสในฐานะบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ สนับสนุนและมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนของเครือ โดยคำนึงถึงความท้าทายหลักที่โลตัสพบในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นหลัก
การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (human rights due diligence – HRDD) ของโลตัส
การประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยง
โลตัสวางแผนการดำเนินงานอย่างเข้มข้นเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในขอบเขตการดำเนินงานของบริษัทและตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยดำเนินกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ซึ่งโดยหลักเน้นการบริหารจัดการประเด็นสิทธิมนุษยชนในลักษณะการบริหารความเสี่ยง ตามหลักการของ UNGP ตลอดจนอ้างอิงแนวปฏิบัติที่ดีด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีการดำเนินงานดังนี้
- ในการดำเนินงานของบริษัท – โลตัสกำหนดแผนการดำเนินกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ทรงสิทธิเป็นศูนย์กลาง โดยในระยะถัดไป จะทำการประเมินความเสี่ยงทั้งในระดับองค์กร และในระดับพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านแรงงานในการดำเนินธุรกิจ และความตระหนักรู้
- ในห่วงโซ่อุปทาน – เรากลั่นกรองความเสี่ยงด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานตั้งแต่กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคู่ค้า หลังจากเป็นคู่ค้าของโลตัส จะมีการประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ และใช้การตรวจประเมินทางสังคม (Social Audit) เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามการดำเนินงานของคู่ค้าตามที่พบความเสี่ยงนั้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ในหัวข้อระบบการตรวจประเมินคู่ค้า) ทั้งนี้ โลตัสตระหนักดีว่า การตรวจประเมินทางสังคมมีข้อจำกัดบางประการ ทั้งในมิติความครบถ้วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในกรอบการประเมิน ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่อาจพิจารณาได้ไม่รอบด้าน โลตัสจึงยึดมั่นหลักการการประเมินความเสี่ยงของ UNGP เพื่อนำมาปฏิบัติใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของโลตัส ซึ่งดำเนินงานควบคู่ไปกับใช้เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน (ESG Criteria) โลตัสตระหนักดีว่าความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในระยะยาวคือการบริหารจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน เรามุ่งเน้นให้ความสำคัญสูงสุดกับคู่ค้าหลัก (Critical Suppliers) ของเรา และกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ กลุ่มสินค้าอาหารที่มีความเสี่ยงสูงในประเทศไทย เช่น สินค้าอาหารสดและสินค้าเกษตร ซึ่งโลตัสจะเน้นให้ความสำคัญลำดับสูงสุด เพื่อตรวจหาความเสี่ยงและบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเร่งด่วนในลำดับต่อไป
นอกจากนี้ โลตัสอยู่ในระหว่างการพัฒนากระบวนการประเมินความเสี่ยงเชิงรุกในห่วงโซ่อุปทาน โดยอ้างอิงหลักการการตรวจสอบรอบด้านโดยอ้างอิงกรอบการดำเนินงานตามความคาดหวังของ UNGP และ OECD รวมถึงอ้างอิงหลักการซึ่งปรากฏใน OECD-FAO Guidance for Responsible Agricultural Supply Chains โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้สามารถระบุและบริหารความเสี่ยงเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลตัส
การติดตามและบรรเทาผลกระทบ
จากการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนช่วงที่ผ่านมา โลตัสได้รับทราบถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท โดยเฉพาะประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี โลตัสจึงได้วางแนวทางและกลยุทธ์ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว โดยมีแผนการติดตามความคืบหน้าทั้งจากการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้า การอาศัยกลไกการตรวจประเมินด้านจริยธรรมของคู่ค้า และการตรวจสอบทางสังคม รวมถึงจัดทำกระบวนการประเมินผลกระทบที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นระยะ
จากการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง โลตัสพบว่าปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่พบในหลายประเด็นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ สิทธิแรงงานข้ามชาติ สตรี และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบที่สำคัญ อาทิ ปัญหาการได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียม การได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมการจ้างงานแบบชั่วคราว และการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานทางเพศหรือเชื้อชาติ ซึ่งการป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มเหล่านี้ต้องอาศัยการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โลตัสจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเชิงการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับสมาคมธุรกิจต่าง ๆ การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร
การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโลตัส และการสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบ
ในปี พ.ศ. 2563 มีการเผยแพร่รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Modern Slavery Statement ของกลุ่มเทสโก้ ซึ่งเปิดเผยข้อมูลความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเทสโก้ รวมถึงการทำธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย ประเมินผลกระทบโดยองค์กรอิสระ โดยสัมภาษณ์เพื่อนพนักงานของเรา และแรงงานของคู่ค้า ที่ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานของเรา จึงเป็นการเก็บข้อมูลที่มีความโปร่งใส และมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดกระบวนการ ในส่วนของประเทศไทย ได้ทำการประเมินผลกระทบในพื้นที่ปฏิบัติงานหลัก ได้แก่ พื้นที่ห้างโลตัส 5 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่ง
จากการศึกษาพบว่า ปัญหาและความท้าทายแทบทั้งหมดเกิดกับพนักงานและลูกจ้างของคู่ค้าของเรา และส่วนใหญ่เป็นข้อท้าทายเฉพาะที่เกิดกับแรงงานข้ามชาติ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
- การสื่อสารเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงานที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการจัดหางาน
- วันหยุดประจำสัปดาห์กับการทำงานล่วงเวลา และจำนวนชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน
- กระบวนการจ่ายค่าจ้าง และการหักค่าจ้าง ที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน
- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการจัดหางาน
- การเลือกปฏิบัติ รวมถึงการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ
จากข้อค้นพบดังกล่าว โลตัสได้จัดตั้งคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อกำหนดทิศทางเพื่อแก้ไขข้อท้าทาย โดยการพัฒนากลไกการตรวจสอบผลการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน การพัฒนากลไกการร้องเรียนสายด่วนโปร่งใส เพื่อให้แรงงานในกิจการ และห่วงโซ่อุปทานสามารถเข้าถึงไกกลดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อส่งต่อประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญเพื่อให้ได้รับการจัดการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิผลด
นอกจากการดำเนินการแก้ไขข้อท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน โลตัสทบทวนและปรับปรุงแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ
- การส่งเสริมงานที่มีคุณค่า ที่มุ่งเน้น ความมั่นคงในการทำงาน แทนที่การจ้างงานในรปูแบบชั่วคราว และโอกาสในความก้าวหน้าด้านอาชีพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในศูนย์กระจายสินค้าของเรา
- การส่งเสริมหลักการจัดหางานที่เป็นธรรมในกิจการและห่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของนายจ้างเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน
- การส่งเสริมการดำเนินการตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ เรื่องการจัดหาสินค้าอย่างรับผิดชอบ และความยั่งยืน โดยกำหนดหลักการด้านแนวปฏิบัติแรงงาน สำหรับคู่ค้าของเรา
ในระยะถัดไป โลตัสมีแผนเผยแพร่รายงานประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจของเรา เพื่อสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อเคารพหลักสิทธิมนุษยชนของโลตัส และความท้าทายที่พบ รวมถึงผลกระทบของการดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหารที่มีความเสี่ยงสูง (อาทิ สินค้ากลุ่มอาหารทะเล ไก่ หรือส้ม) ผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการประเมินผลกระทบต่อสตรี และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทานของโลตัส ทั้งนี้ การดำเนินงานประเมินผลกระทบของโลตัส จะเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง องค์กรภาคประชาสังคม และผู้แทนแรงงาน เป็นต้น
การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
โลตัสเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังการเคารพสิทธิมนุษยชนในองค์กร และในกลุ่มคู่ค้าของโลตัส จึงวางแผนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็น 2 ระดับ ดังนี้
- การสร้างความตระหนักรู้ในบริษัท – โลตัสมีแผนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนโยบายฯ หลักการสิทธิมนุษยชน และกระบวนการ HRDD ให้กับบุคคลในองค์กร ตามความเหมาะสมของส่วนงานและความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละสายงาน โดยมุ่งให้ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมภาคบังคับของบริษัท
- การสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มคู่ค้า – โลตัสจะใช้ช่องทางการสื่อสารกับคู่ค้าที่หลากหลาย ทั้งในการพบหารือคู่ค้ารายปี การให้ความรู้คู่ค้าในระหว่างการตรวจประเมินทางสังคม รวมถึงการสื่อสารผ่านสื่อ อาทิ ข่าวสารประจำเดือนสำหรับคู่ค้า(Supplier’s Newsletter) ของบริษัท และมุ่งเน้นให้การสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อให้คู่ค้าสามารถนำไปสื่อสารกับพนักงานและลูกจ้างได้อย่างเหมาะสม โดยโลตัสให้ความสำคัญอันดับต้นกับกลุ่มคู่ค้าหลัก (Critical Suppliers) และกลุ่มคู่ค้าอาหารที่มีความเสี่ยงสูง เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นความท้าทายหลักในห่วงโซ่อุปทานของโลตัส