ความยั่งยืน
สิ่งแวดล้อม (Planet)
โลตัส ในฐานะธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาโดยตลอด ตระหนักดีถึงผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของเราต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชนโดยรอบร้านค้าของเรา และภาพรวมระดับประเทศ ซึ่งการดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Planet) เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของเรา ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับ การดูแลเอาใจใส่เพื่อนพนักงาน (People) การควบคุมดูแลมาตรฐานสินค้า (Products) และการสนับสนุนยืนหยัดเคียงข้างชุมชน (Places) เสมอมา
ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป้าหมายหลักของเราในด้านสิ่งแวดล้อม คือการมุ่งเป็นองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ภายในปี 2573 (Zero Carbon Emission by 2030) โดยเราอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์เพื่อวางเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ทั้งในส่วนการลดก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อให้เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจค้าปลีก และภาพรวมของประเทศได้จริง
เพื่อให้มั่นใจว่า ธุรกิจของเราจะก้าวเข้าไปสู่การดำเนินธุรกิจค้าปลีกสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบเชิงลบ รวมทั้งมีส่วนช่วยส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวการดำเนินธุรกิจที่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แก่เพื่อนพนักงาน ลูกค้า และชุมชน โลตัสจึงดำเนินการ ดังนี้
โลตัสให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการมุ่งไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โลตัสได้ดำเนินการภายใต้เป้าหมายเดิมระดับเครือของกลุ่มเทสโก้ ที่มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ภายใน ปี พ.ศ.2593 เมื่อเทียบกับปีฐาน ปี 2558/2559 ซึ่ง ณ ปี 2563 โลตัสสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 18 % ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน และการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานของเรา
ในส่วนเป้าหมายใหม่ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ โลตัสมุ่งเป็นองค์กรธุรกิจค้าปลีกที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ภายใน ปี พ.ศ. 2573 (Zero Carbon Emission by 2030) ปัจจุบัน โลตัสกำลังดำเนินศึกษาเพื่อวางแผนการดำเนินการอย่างรอบด้าน การตั้งเป้าหมายในระยะสั้นและระยะกลาง โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ที่หลากหลายของสัดส่วนการใช้พลังงาน (Energy Mix) เพื่อเป็นแนวทางไปสู่เป้าหมายระยะยาวดังกล่าว
โลตัสดำเนินธุรกิจค้าปลีก ซึ่งให้บริการทั้งในส่วนการจัดเก็บสินค้าและการขนส่งสินค้าออกจากศูนย์กระจายสินค้า การดำเนินกิจการห้างค้าปลีก ทั้งในส่วนห้างค้าปลีกและส่วนพื้นที่เช่า รวมถึงการให้บริการออนไลน์ช็อปปิ้ง ซึ่งให้บริการส่งของถึงมือลูกค้า โดยเรามีหน่วยงานซึ่งบริหารจัดการการใช้พลังงานในระดับองค์กร เพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายด้านการใช้พลังงานของเรา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายสูงสุดในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2573
ปัจจุบัน การดำเนินกิจการของโลตัสทั้งหมด มีการใช้พลังงานไฟฟ้า จากแหล่งพลังงานสิ้นเปลือง (Non-renewable energy resources) เป็นจำนวน 1050 GWh และมีแนวทางจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) มาเพื่อใช้ทดแทนในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของเรา ซึ่ง ณ ปี 2563 โลตัสใช้พลังงานหมุนเวียนโดยติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) ที่ร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 59 สาขา และศูนย์กระจายสินค้าทั้งหมด 6 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 54 MW คิดเป็นพื้นที่รวม 490,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของเรา ได้มากถึง 69 GWh ต่อปี โดยการติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียนของเราในปัจจุบัน สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสิ้นเปลือง และลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ได้มากถึง 20-30% ของจำนวนพลังงานและค่าไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในร้านค้าแต่ละสาขาที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์ ฯ
ในระยะถัดไป โลตัสมีแผนจะขยายพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ ฯ ในอีก 30 สาขา มีกำลังการผลิตรวม 15 MW คิดเป็นพื้นที่เพิ่มขึ้น 135,000 ตารางเมตร คาดการณ์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 22 GWh ต่อปี ภายในสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ เราอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และการตั้งเป้าหมายระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นในสาขาของเรา ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์ ฯ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในร้านค้าขนาดไฮเปอร์มาร์เก็ต
โลตัสให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy efficiency) เพื่อมุ่งไปสู่การดำเนินธุรกิจค้าปลีกสีเขียว (Green retailing) ดังนี้
การออกแบบ และก่อสร้างร้านค้าสาขา โดยคำนึงถึง ประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงาน โดยจัดตั้งร้านค้าปลอดคาร์บอน ที่สาขาตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา (รูปขวา) ตั้งแต่ปี 2554 โดยนับเป็นร้านค้าแห่งแรกในไทยที่ออกแบบตามข้อกำหนดการออกแบบและก่อสร้างที่คำนึงถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพ โดยใช้พลังงานจากแหล่งหมุนเวียน ได้แก่ กังหัสลม และแผงโซลาร์ ฯ รวมถึงอุปกรณ์ประหยัดพลังงานภายในร้านค้า
การติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน โดยการปรับเปลี่ยน และติดตั้ง อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน เช่น หลอดไฟ LED (Light Emitting Diode) เครื่องปรับอากาศ ระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter and VRF Air-condition) และ Building Energy management System (BEMS) เป็นต้น ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานในแต่ละสาขาอย่างมาก เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน (kWh/ตารางเมตร) ของโลตัสในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง แม้มีการขยายจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่อง
การสื่อสารและสร้างจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โลตัสดำเนินอย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกจิตสำนึกการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในองค์กร โดยมีฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานในร้านค้า และศูนย์กระจายสินค้า
โลตัสตระหนักถึงข้อท้าทายในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และการบริหารจัดการขยะและของเสียเพื่อคงคุณค่าของทรัพยากรตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแบรนด์โลตัสที่เราเลือกใช้เพื่อคงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารจนถึงมือลูกค้า เราจึงดำเนินแนวทางตามหลัก 3R ได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) ควบคู่ไปกับการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในการบริหารจัดการขยะและของเสียภายในการดำเนินธุรกิจของเรา การสนับสนุนการเก็บคืนวัตถุดิบเข้าสู่ระบบการรีไซเคิล รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และการนำมาใช้ซ้ำ
โลตัสมีหลักการในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าแบรนด์โลตัส ที่ยึดหลักการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed-loop packaging system) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เราจึงเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายโดยเน้นตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายเดิมที่จะใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าแบรนด์โลตัสที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% เพื่อสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในเดือนมกราคม 2564 โลตัสได้ใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้ง่ายถึง 99.5% ของพลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์แบรนด์โลตัสทั้งหมด และมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพียง 0.5% ที่เป็นพลาสติกชนิดที่รีไซเคิลได้ยาก ตัวเลขนี้สะท้อนความก้าวหน้าจากปี 2562 ที่โลตัสใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้ง่าย 92% และพลาสติกชนิดที่รีไซเคิลได้ยาก 8%
ความก้าวหน้าที่สำคัญอีกประการคือการยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์ทุกชนิดที่ทำจากโฟม ภายในธุรกิจของเราทั้งหมดตั้งแต่ปี 2562 โดยเปลี่ยนมาใช้วัสดุชนิดอื่นแทน อาทิ เปลี่ยนถาดโฟมบรรจุเนื้อสัตว์มาใช้ถาดเธอร์โมฟอร์ม (Thermoform) ซึ่งขึ้นรูปจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% มีความสะอาดถูกสุขอนามัย คงความสดของสินค้า และสามารถลดขยะพลาสติกปีละกว่า 400 ตัน เมื่อเทียบกับการใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดิม นอกจากนั้น โลตัส ยังยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกภายในสาขาทุกสาขาในปีเดียวกัน
โลตัสไม่หยุดยั้งที่จะต่อยอดแผนด้านบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญภายใต้แผนงานด้านความยั่งยืนขององค์กร ตั้งแต่ต้นปี 2564 โลตัสได้ทำการศึกษาปริมาณและสถานการณ์การใช้บรรจุภัณฑ์ทุกชนิดของแบรนด์โลตัสโดยอ้างอิงข้อมูลบรรจุภัณฑ์ปี 2561-2562 เป็นปีฐานเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทอยู่ในระหว่างการวางกลยุทธ์ แผนงาน และการพิจารณาตั้งเป้าหมายการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของสินค้าแบรนด์โลตัส ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศเป้าหมายดังกล่าวได้ในช่วงปลายปี 2564
นอกจากนี้ โลตัสยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้างดและลดการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 และสร้างแรงจูงใจโดยการมอบแต้มคลับการ์ดให้กับสมาชิก และในปี 2563 โลตัสจึงยกเลิกการแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตามนโยบายของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และได้พัฒนา "ถุงคืนชีพ" ถุงพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้หลายครั้ง จำหน่ายให้สำหรับลูกค้าที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยลูกค้าสามารถนำมาแลกใบใหม่ได้ฟรีหากใบเก่าชำรุด ถุงคืนชีพที่ชำรุดทั้งหมด ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นถุงคืนชีพใบใหม่เพื่อลดการใช้พลาสติก
โลตัสมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการรณรงค์และสนับสนุนให้ลูกค้าและผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยโลตัสใช้ประโยชน์จากการมีสาขาครอบคลุมในหลายพื้นที่ และสามารถเข้าถึงลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เป็นจุดแข็งในการสร้างช่องทางการรับกลับวัตถุดิบเพื่อการรีไซเคิล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เน้นการรับกลับขวดพลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม ถุงและฟิล์มพลาสติก รวมไปถึงกล่องและลังกระดาษ เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี โดยมีรายละเอียดโครงการต่าง ๆ ดังนี้
-
โครงการ "มือวิเศษ x วน" จุดรับถุงพลาสติกและฟิล์มพลาสติกสะอาด โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ กลุ่ม PPP plastics สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) รวมทั้งพันธมิตรองค์กรภาคเอกชนกว่า 30 องค์กร ในการนำเศษพลาสติกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โลตัสได้ติดตั้งถังวนถุงที่เป็นจุด drop point ในไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 40 แห่ง และตั้งแต่เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2563 สามารถเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติก 300 กิโลกรัมกลับเข้าระบบเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกแบบหนาใช้ซ้ำ
-
เครื่องรับขวดพลาสติกแบบอัตโนมัติ (Reverse Vending Machine) เครื่องรับขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม ที่ลูกค้าสามารถนำขวดพลาสติกและกระป๋องเครื่องดื่มมารีไซเคิล โดยจะได้รับแต้มคลับการ์ด 25 แต้มต่อขวด 1 ขวด ซึ่งแต้มคลับการ์ดสามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ ปัจจุบันมีเครื่องในสาขารวม 15 แห่ง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 สามารถเก็บขวดพลาสติกกว่า 800,000 ใบ และมีเป้าหมายที่จะขยายโครงการต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าและประชาชนช่วยกันคัดแยกและรีไซเคิลขยะอย่างถูกวิธีให้สามารถนำไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
-
โครงการ "ข.ขวด แลก ข.ไข่" จุดรับขวดพลาสติก โดยลูกค้าสามารถแลกไข่ไก่ฟรี 1 ฟองสำหรับขวดพลาสติกทุก ๆ 10 ขวดที่นำมารีไซเคิล ในเบื้องต้นได้ทำการติดตั้งเครื่องจำนวน 6 เครื่องที่โลตัสสาขารัตนาธิเบศร์ พระราม 4 บางแค ตราด กุมวาปี และสระบุรี พร้อมทั้งได้มอบเครื่องจำนวน 4 เครื่อง ให้กับจังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างโมเดลการรีไซเคิลขยะในชุมชน
-
เปิดจุดรับบริจาคกล่องและลังกระดาษในไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั่วประเทศ โดยความร่วมมือกับ SCGP นำไปรีไซเคิล ต่อมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมากและจำเป็นต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหลายแห่งทั่วประเทศ โลตัส ได้ร่วมมือกับ SCGP ในการนำกล่องและลังกระดาษทั้งหมด ไปผลิตเป็นเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี มอบให้กับโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ โดยล่าสุด โลตัสได้รับมอบกล่องและลังกระดาษ จำนวน 33,000 กิโลกรัม จากกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 17,000 กิโลกรัม จากประชาชน ณ จุดรับบริจาคทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 50,000 กิโลกรัม ซึ่งได้ทำการส่งมอบให้กับเอสจีพีแล้ว ซึ่งปัจจุบันโลตัสยังเปิดจุดบริจาคอย่างต่อเนื่อง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ "โลตัส รับมอบกล่องและลังกระดาษกว่า 50,000 กิโลกรัม รีไซเคิลเป็นเตียงสนามกระดาษ SCGP สู้โควิด-19")